โครงการ Data Governance คือ การกำกับดูแลข้อมูล ซึ่งเอกสารอ้างอิงส่วนใหญ่จะเขียนในเชิงทฤษฎี ทำให้ผู้ที่ศึกษารายละเอียดด้าน Data Governance ไม่สามารถออกแบบแนวทางในการนำไปปฏิบัติได้
ส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่า การดำเนินโครงการ Data Governance คือ การร่างนโยบายขององค์กร โดยไม่ได้ลงรายละเอียดในภาคปฏิบัติ เช่น การมีนโยบายว่าข้อมูลภายในองค์กร จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดว่า “คุณภาพของข้อมูล” ที่ดีเป็นอย่างไร และต้องตรวจสอบอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น บางองค์กรมีการว่าจ้างที่ปรึกษามาเพื่อเขียน Enterprise Architecture (EA) แล้วอ้างว่าได้ครอบคลุม Data Governance แล้ว ซึ่งเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้
หากมีการดำเนินโครงการ Data Governance แล้ว จะต้องมีสิ่งส่งมอบที่จับต้องได้ ดังต่อไปนี้
ต้องมีการติดตั้งโปรแกรม Data Catalog เพื่อใช้เป็นบัญชีรายชื่อข้อมูล ให้แน่ใจว่า ข้อมูลที่ถูกบรรจุใน Data Catalog ได้ผ่านกระบวนการในการตรวจสอบเพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งานแล้ว
ต้องมีการจัดทำ Metadata เพื่อใช้แสดงรายละเอียดของชุดข้อมูล ให้ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดของข้อมูลนั้น ๆ ได้
ต้องมีการระบุเจ้าของข้อมูลในแต่ละชุดข้อมูล
ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล ให้เป็นไปตามตัวชี้วัดขององค์กร ก่อนนำไปใช้งาน
ต้องมีการระบุระดับชั้นความลับของชุดข้อมูล
ต้องมีการจดบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ในการเคลื่อนย้าย เผยแพร่ นำข้อมูลไปใช้งาน และการทำลายข้อมูล
มีแค่นโยบาย แต่ไม่มีกระบวนการ และไม่มีการปฏิบัติจริง จะมีประโยชน์อะไร
หากมีสิ่งส่งมอบดังกล่าว โครงการ Data Governance จึงจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะแก้ปัญหาข้อมูลไม่มีคุณภาพ ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ปัญหาข้อมูลไม่มีการดูแลรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย และปัญหาการหวงแหนข้อมูล ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า หากมีการดำเนินโครงการ Data Governance อย่างแท้จริง องค์กรจะได้รับประโยชน์มากมาย และเป็นการแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานขององค์กรได้หมดสิ้น เพื่อให้ได้ชื่อว่า เป็น Data-Driven Organization อย่างแท้จริง
Comentários