top of page

Disruption คืออะไรกันแน่?


What is Disruption?

คำว่า Disrupt แปลตรงตัวคือ “การหยุดชะงัก” ซึ่งมักถูกใช้ในบริบทของการชักชวนให้มีการ “ปฏิรูป” หรือทำอะไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ โดยมักจะถูกโยงเข้าสู่เรื่องของเทคโนโลยี เราจึงมักจะเห็นคำว่า Digital Disruption หรือ Disruptive Technology อยู่บ่อยครั้ง

อ้างอิงจาก บทความจาก Harvard Business Review ที่ได้กล่าวว่า Disruptive หมายถึง การที่บริษัทเล็ก ๆ ที่มีทรัพยากรน้อยกว่า สามารถพัฒนาสินค้า หรือบริการใหม่ ก่อให้เกิดเป็นความต้องการใหม่เกิดขึ้น จนกระทั่งความต้องการใหม่นี้ ได้ทำการแทนที่สิ่งเดิมที่มีอยู่ ส่วนบริษัทใหญ่ ๆ จะเน้นการพัฒนาจากความต้องการเดิม กลุ่มเดิม ต่อยอดจากสิ่งเดิม ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความต้องการอื่น ๆ ได้

ดังนั้น คำว่า Disruption จึงแตกต่างจากคำว่า Transformation ตรงที่ Disruption เน้นการพัฒนาสิ่งใหม่ และมองหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะที่ Transformation เป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิม โดยอาจจะทำเพื่อการต่อยอดจากสิ่งเดิม หรือเพื่อการพัฒนาสิ่งใหม่ก็เป็นได้

ตัวอย่างการ Disrupt ได้แก่ Cloud Computing ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบเสนอความต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ที่ไม่ต้องการมี Data Center เป็นของตัวเอง สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ บน Cloud ได้ ไม่ว่าจะเป็น Data Storage หรือแม้แต่ Application ต่าง ๆ มากมาย ถือว่าเป็นกลุ่มความต้องการใหม่ ไม่ใช่กลุ่มเดิมที่มี Data Center อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ผลที่เกิดขึ้น คือ ทั้งกลุ่มความต้องการใหม่ และกลุ่มเดิมที่มี Data Center อยู่แล้ว สามารถมาใช้บริการ Cloud Computing ได้ ทำให้เกิดการ “หยุดชะงัก” ของบริการที่เกี่ยวข้องกับ Data Center เช่น บริษัท Hardware, Database และ บริษัท Software แบบติดตั้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยมีขั้นตอนของการทดลอง ที่อาจจะเป็นการลองผิด และลองถูก ซึ่งก็มีความเสี่ยงในตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกบริษัท ที่พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ จะเป็นที่ยอมรับไปเสียหมด ในช่วงของการพัฒนานี้เอง จึงเรียกได้ว่าเป็นช่วงวัดใจ ที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้

บางองค์กร เลือกที่จะเป็นผู้ตาม มากกว่าผู้นำ ซึ่งก็คงไม่ผิดแปลกอะไร ตัวอย่างเช่น Grab Taxi มาหลัง UBER และก็คงไม่มีใครบอกได้ว่า UBER นั้น เป็นต้นแบบแนวคิดให้ Grab หรือไม่ เพียงแต่ Grab ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สามารถพัฒนา Model และนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า จึงทำให้สุดท้ายแล้ว Grab ก็สามารถเข้าซื้อกิจการของ UBER ไปได้ ในกรณีนี้ เรียกว่า Disruptive ได้หรือไม่? หากมองว่า Disruption เป็นการพัฒนาสิ่งใหม่ ในกลุ่มความต้องการใหม่ๆ การที่ Grab Taxi พัฒนา Platform ขึ้นมานั้น ไม่ถือว่าเป็นการ Disrupt แต่ UBER อาจจะเป็นการ Disrupt เพราะก่อนหน้านี้ ไม่มี Platform สำหรับเรียกรถ Taxi หรือ รถบ้านที่ต้องการให้บริการขนส่งมาก่อน

 

สำหรับคำว่า Disruptive technology นั่น บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง McKinsey ได้เสนอ 12 เทคโนโลยี ดังต่อไปนี้

  1. Mobile internet

  2. Automation of knowledge work คล้ายๆ AI ประเภทหนึ่ง เน้นการจำรายละเอียดต่างๆ และสามารถบอกถึงข้อมูลที่ต้องการทราบได้อย่างอัตโนมัติ เช่น IBM Watson

  3. Internet of Things (IOT) อุปกรณ์ที่สามารถส่งผ่านข้อมูลให้กันได้อย่าง Real-Time

  4. Advanced robotics หุ่นยนต์ที่สามารถวิเคราะห์เชิงลึกได้ ไม่ใช่แต่การออกคำสั่งแบบเดิมๆ แต่สามารถคิดต่อยอดเองได้

  5. Cloud technology

  6. Autonomous vehicles รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ

  7. Next-generation genomics เทคโนโลยีปรับปรุงพัฒนายีนส์ ตลอดจนพัฒนาพันธุ์สัตว์ และพืช

  8. Next-generation storage เทคโนโลยีการเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่

  9. 3D printing การพิมพ์ระบบ 3 มิติ

  10. Advanced materials การผลิตวัสดุแบบใหม่ เช่น วัสดุที่กลับสู่สภาพเดิมได้

  11. Advanced oil and gas exploration and recovery เทคโนโลยีการค้นหาน้ำมันและก๊าซ

  12. Renewable electricity เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน เช่น แสงแดด ลม คลื่น น้ำพุร้อน เป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานของ McKinsey นั้น เป็นรายงานที่ได้นำเสนอเอาไว้เมื่อปี 2013 ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 ปี เราก็ได้เห็นบางเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาไปจนถึงขีดสุด และเริ่มมีความเสถียรในตัวเองแล้ว เช่น Mobile Internet แต่ก็ยังมีบางเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย เช่น Autonomous vehicle (อ่านรายงานของ McKinsey ฉบับเต็มได้ที่ >>> https://mck.co/2KqDe0z )

สุดท้าย ข้อสรุปของการ Disrupt คือ การไม่หยุดนิ่งของการพัฒนา ซึ่งการพัฒนานี้ เกิดจาก “มนุษย์” เพื่อตอบสนองความต้องการของ “มนุษย์” สิ่งที่ได้จากการพัฒนา คือ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์ให้คนกลุ่มหนึ่ง และอาจจะทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเสียประโยชน์ไป ดังนั้น การ Disrupt คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เรียกได้ว่า มันคือทางเลือก ที่แต่ละคน แต่ละองค์กร จะอยู่นิ่งๆ แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไป จนกระทั่งโดน Disrupt หรือจะเลือกที่จะ Disrupt ตัวเองเสียก่อน ก่อนที่คนอื่นจะเข้ามา Disrupt ตัวคุณ

References :

Autonomous vehicle by McKinsey https://mck.co/2KqDe0z

< Previous
Next >
bottom of page