top of page

เมื่อ Big Data กลายเป็น Buzzword


When the Big Data becomes a Buzzword

คุณได้ยินคำว่า Big Data ครั้งแรก เมื่อใด? คุณเข้าใจความหมายของ Big Data แล้วหรือยัง? คุณเคยพูดถึงคำว่า Big Data หรือไม่?

ถ้าคำตอบคือ ได้ยินคำว่า Big Data มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ในขณะเดียวกัน คุณเคยมีการใช้คำว่า Big Data เพื่อเสนองาน หรือแนะนำโครงการต่อให้ผู้อื่น

หากคำตอบเป็นเช่นนั้น ความหมายว่า Big Data ได้กลายเป็น Buzzword ไปเสียแล้ว

คำว่า Buzzword แปลว่า คำฮิตติดหู ที่ได้ยินกันบ่อย แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคำนี้แปลว่าอะไร

สถานการณ์อันตรายของ Buzzword ก็คือ เมื่อหลายๆ คน มองว่าการไม่เข้าใจคำนี้ เป็นเรื่องปกติ และใช้คำนี้กันอย่างฟุ่มเฟือย สุดท้ายแล้ว คำนี้ก็จะกลายเป็นคำที่สูญเสียประโยชน์ที่แท้จริงไป

ด้วยความหมายของ Big Data คือ 4V อันได้แก่

1. Volume — หมายถึงขนาดของข้อมูล ที่จะต้องมีการเพิ่มขนาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การทำแบบสอบถามเพียงครั้งเดียว จะไม่เรียกว่าเป็น Big Data

2. Velocity — ข้อมูลต้องส่งผ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การดึงข้อมูลแล้วนำไปวิเคราะห์ใน Excel เพื่อรอนำเสนอต่อ อาจจะไม่เรียกว่าเป็น Big Data

3. Variety — ความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มา และโครงสร้างของข้อมูล ดังนั้น ข้อมูลที่เป็น Big Data ไม่จำเป็นจะต้องมาจาก Internet หรือ เป็นข้อมูลตัวเลขเท่านั้น

4. Veracity — ข้อมูลมีความไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากขนาด ความเร็ว และความหลากหลาย ดังนั้นการจะใช้ข้อมูลจึงควรมีการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้ข้อมูลมีคุณภาพมากพอเสียก่อน

ด้วยคำว่า Big Data อย่างเดียว อาจจะไม่ใช้แนวทางแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ให้มองว่า Big Data เป็นแหล่งทรัพยากร ที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้มาก หากเข้าใจทั้งหมด

 

เมื่อพูดถึงโครงการ Big Data แล้วนั้น องค์ประกอบของโครงการ จะมีด้วยกัน 5 ส่วน ได้แก่

1. การสร้างแหล่งที่มาของข้อมูล

2. การเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ

3. การออกแบบที่เก็บข้อมูลกลาง

4. การวิเคราะห์ หรือ สร้าง Model เพื่อใช้ประมวลผลข้อมูล

5. การนำเสนอ แสดงผล หรือการกระทำเพื่อต่อยอดจากการวิเคราะห์

ซึ่งโจทย์ หรือ ปัญหา แต่ละปัญหาจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้นเมื่อพูดถึงโครงการ Big Data แล้ว จึงเป็นเรื่องที่กว้างมาก อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของโครงการ Big Data อยู่ที่เป้าหมาย

ตัวอย่างเช่น โครงการสร้างถังเก็บข้อมูลกลาง มีเป้าหมายอะไร? คำตอบอาจจะเป็น เพื่อให้มีข้อมูลมากพอที่จะนำไปวิเคราะห์แนวทางการตลาด เป็นต้น

โครงการที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน จะมีแนวโน้มที่จะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า มองในมุมกลับกัน หากไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แล้วจะลงทุนไปทำไม?

การที่คำว่า Big Data เป็น Buzzword เกิดจากการใช้คำนี้บ่อยจนเกินไป โดยไม่มีการระบุเป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ คำว่า Big Data จะเป็นคำไม่มีน้ำหนักอะไร วิธีการแก้ไข คือ เมื่อใดที่กล่าวถึงคำว่า Big Data ควรจะต้องทราบว่า ใช้ Big Data เพื่ออะไร ใช้ส่วนประกอบไหน (ใน 5 ส่วนข้างต้น) และมีแนวทางในการดำเนินการต่ออย่างไร

Big Data ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ดังนั้น หลายบทความจึงมักจะกล่าวว่า หากใครทำได้ก่อน อาจจะสามารถ Disrupt คู่แข่งได้เลยก็เป็นได้

 

< Previous
Next >
bottom of page