เชื่อหรือไม่ว่า เรื่อง Generation เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการทำงานอย่างมาก เหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ระบบการศึกษา ลักษณะการทำงาน ความพร้อมของสิ่งอำนวยประโยชน์ และเทคโนโลยี
ก่อนจะเข้าไปสู่ช่องว่างของ Generation ต่างๆ มาทำความรู้จักแต่ละ Gen แบบย่อกันก่อน
เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2)
ในยุคนี้ เป็นยุคหลังสงครามที่ประชาชนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด พอกลับเข้ามาทำงาน ก็ต้องพบเจอกับสภาวะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีประเภทเครื่องจักรที่ค่อนข้างสำเร็จรูป เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ คนกลุ่ม Baby Boomer ที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ณ ตอนนั้น จึงจำเป็นต้องทำงานหนักเรียกได้ว่ามีชีวิตเพื่อการทำงาน ทำให้มีนิสัยเคารพกฎเกณฑ์ กติกา และทุ่มเทให้กับการทำงาน และมีความรักในองค์กรของตัวเองอย่างมาก ปัจจุบันคนกลุ่ม Baby Boomer คือ กลุ่มคนอายุประมาณ 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้บริหารในหลายๆ องค์กร จะอยู่ในกลุ่ม Baby Boomer
เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522)
เป็นกลุ่มคนในช่วงโลกกำลังพัฒนาเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ระบบการสาธารณสุข แต่ละครอบครัวจะเน้นให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือเพื่ออนาคต ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตของบ้านเรา ในสมัยนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นให้ลูกหลานทำงานกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจ มากกว่าการทำงานกับเอกชน อาจจะมีบางคนที่ตัดสินใจเปิดกิจการตัวเอง เป็นยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อสร้างรากฐานให้คนรุ่นต่อๆ มา
เจเนอเรชั่น วาย (Generation Y) (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523–2540)
คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นกับความพร้อม ที่พ่อแม่ได้สร้างเอาไว้ให้แล้ว บางครอบครัวไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาของโทรศัพท์มือถือ ก็เกิดในยุคนี้ ทำให้เกิดค่านิยมที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรุ่นก่อนหน้านี้ ชอบอะไรที่รวดเร็ว ส่งผลให้เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความรักองค์กรน้อยกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่มีความรักในตัวงาน ชอบทำงานที่มีค่าและท้าทาย ที่มาพร้อมกับผลประโยชน์ที่เหมาะสม ในช่วงหลังๆ คนในวัยนี้จะเริ่มสนใจทำธุรกิจเองมากกว่าการทำงานกับองค์กร โดยเฉพาะ การทำ Startup แม้ว่าจะยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลยก็ตาม ด้วยสาเหตุที่ว่า คนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับการมีพ่อแม่คอย Support ทำให้มีความกล้าในการลองผิดลองถูก และพร้อมจะล้มได้บ้าง เพื่อเรียนรู้ที่จะเติบโตให้ได้ไว
เจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) (เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)
คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน นับตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเด็กที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีมากกว่า Gen Y เพราะเทียบกันแล้ว ใน Gen Y ยังเป็นยุคที่เทคโนโลยียังพัฒนาได้ไม่เร็วเท่าทุกวันนี้ แต่เด็ก Gen Z เกิดมาพร้อม iPad พร้อม Computer Spec แรงๆ รู้จัก AI ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และเคยชินกับเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก ทำให้เด็กรุ่นนี้ ค่อนข้างมีความพร้อมต่อการใช้เทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีนิสัยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เกิดจากการที่มี Internet ที่ทำให้ศึกษาความรู้ได้ตลอดเวลา การที่มีใครมาสั่งสอน จะเกิดคำถามในใจว่า มันจริงหรือไม่? และถ้าหากไม่จริง คนที่สอนนั้นก็จะเสียความน่าเชื่อถือในสายตาของคนกลุ่มนี้ไป อีกมุมหนึ่ง เมื่อเขาเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี ที่มีทั้งด้านดี และด้านลบ ในด้านดี คือ เกิดความสะดวกสบายในชีวิต ด้านลบ คือ มีความละเอียดรอบคอบน้อยลง สังเกตได้จากการโพสอะไรก็ตามลงในไปสื่อ Social ที่มีนักเลงคีย์บอร์ดมากมายที่พิมพ์ไปโดยไม่ทันได้นึกคิด
จริงๆ แค่อ่านเรื่องราวของแต่ละ Generation ก็มองเห็นช่องว่างในการทำงานแล้ว สำหรับโพสนี้ สิ่งที่อยากเสนอจะเป็นมุมของขั้นตอนการทำงานในองค์กร ที่มี Generation ต่างๆ ปะปนกันอยู่ เริ่มจาก การมีผู้บริหารเป็น Baby Boomer ทำให้กฎเกณฑ์ในการทำงานส่วนใหญ่บางส่วน ถูกเขียนขึ้นมาก่อนหน้ายุคสมัย Digital จะเข้ามา Disrupt ระบบการทำงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ที่เป็นระบบใช้งานสำเร็จรูป ทั้งๆ ที่ การทำโครงการ Big Data คือ การนำ Data ต่อยอด แต่หากไม่เคยได้เห็น Data มาก่อน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบไหนที่เหมาะสมต่อการใช้งาน อีกทั้ง ในปัจจุบัน จะเน้นการพัฒนาระบบแบบ Customized มากกว่าระบบสำเร็จรูป ซึ่งอาจต้องมีการ Review ระบบการจัดซื้อเสียใหม่ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการพัฒนาระบบ เป็นต้น
อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ การวางนโยบายส่วนใหญ่ เป็นระบบ Top-Down คือ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ปฏิบัติ ซึ่งหากวิเคราะห์อุปนิสัยของ Gen Y และ Gen Z จะพบว่า ทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ชอบถูกบังคับ แบบไม่มีเหตุผล และไม่เห็นถึงประโยชน์ของการทำงานที่แท้จริง หากนโยบายนั้น มีขั้นตอนที่ชัดเจน และมีวัตถุประสงค์ที่สร้างคุณค่าจริงๆ ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่หากนโยบายเป็นแค่ข้อความง่ายๆ ไม่มีแนวทาง และไม่มีความชัดเจนในผลลัพธ์ สุดท้ายแล้ว กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ก็ออกอาการเมินเฉยต่อนโยบายนั้นไปเลยก็เป็นได้
แนวทางการแก้ปัญหา จะทำอย่างไรดี? ก็ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคีในการทำงาน ปัญหาของ Baby Boomer คือ การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ในสมัยที่ยังเรียนหนังสือ ยังไม่มีการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีมากนัก ทำให้ต้องใช้เวลาในการศึกษาเทคโนโลยีมากกว่า Gen อื่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่สามารถศึกษาได้ อีกทั้ง สิ่งที่ Baby Boomer มีมากกว่า Gen อื่นๆ คือ ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา และการทำงานจริง ที่สำคัญที่สุด หลายคนเป็นผู้บริหาร จึงมีหน้าที่ในการบริหาร และกำหนดทิศทางขององค์กร
ต่อมาคือ Gen X ซึ่งหลายคนก็เป็นผู้บริหารเช่นกัน และอีกหลายคนที่มีตำแหน่งงานค่อนข้างสูง วิธีการแก้คือ การสื่อสารสองทาง นั่นคือ การเปิดใจยอมรับฟังข้อเสนอแนะของทีมงานบ้าง เพื่อเก็บเป็นการวางนโยบายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมมากขึ้น และด้วยความอาวุโสนี้เอง ในการทำโครงการเกี่ยวกับ Digital กลุ่ม Gen X อาจต้องเป็นผู้ทำหน้าที่ Coach หรือ ตัวเชื่อมระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพราะถือว่า เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์หน้างานมากกว่าใคร
Gen Y เป็นกลุ่มที่ไฟแรง ถ้าในเชิงความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีค่อนข้างไม่มีปัญหา แต่ปัญหาใหญ่จะอยู่ที่ความ Ego ที่คิดว่าตัวเองเจ๋ง จนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากใคร ในความเป็นจริงแล้ว ทุกโครงการจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย หลายๆ คน
Gen Z เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาออกมาพร้อมความรู้ใหม่ๆ ที่ Gen อื่น อาจไม่ได้มีโอกาสเรียนมาตั้งแต่พื้นฐาน คนกลุ่มนี้จะชอบความรวดเร็ว จึงยังขาดความรอบคอบ ถ้าได้คนแนะนำที่ดี จะไปได้ไกลมาก แต่หากไปเจอคนที่ไม่ Click กัน ก็จะพร้อมลาจากได้ทันทีเช่นกัน
ช่องว่างในยุค Digital ที่ชัดเจน คือ ระบบการศึกษา และสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราควบคุมได้ เพราะมันเป็นการหมุนเปลี่ยนตามวัฎจักรของโลก สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ คือ ตัวเราเอง ก็อยู่ที่เราจะเลือก ระหว่างเอาตัวเองไปขวางกั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ หรือจะปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
อยู่ที่คุณเลือก ....